การกระทำทารุณกรรมในคู่สมรส

น.อ.หญิงอรุณี ม่วงน้อยเจริญ
"ลูกรัก
จงดูเยี่ยงพยัคฆ์โคร่งใหญ่
ถึงเก่งกาจอาจหาญสักปานใด
ย่อมมิเคยทำร้ายซึ่งลูกเมีย"
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

การปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องในคู่สมรส นับเป็นปัญหาสังคมที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางในสังคมที่เจริญแล้ว ผู้เคราะห์ร้ายมักเกิดกับหญิงมากกว่าชาย ผู้หญิงไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ตามลำพัง โดยการหนีจากคู่สมรส หรือหย่าร้าง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ตนรอดพ้นจากการถูกข่มเหงทุบตี บางรายอาจหนีออกจากบ้าน เมื่อคู่ของตนนำหญิงอื่นเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน หรือถูกทุบตีจนตาย ซึ่งเป็นรายงานจากโรงพักทางด้านศาลก็ไม่มีสถิติแน่ชัด เนื่องจากบางรายไม่ได้รายงานถึงความพยายามต่อสู้ปัญหา และในโรงพยาบาลจะพบในห้องอุบัติเหตุ และรับไว้เนื่องจากอุบัติเหตุการฆ่าตัวตาย หรือบาดแผลจากการถูกทุบตี

พฤติกรรมอย่างไร จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องต่อคู่สมรส (สตรี)

ศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ spouse abuse, women or wife abuse ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่ ชาย หรือสามี ปฏิบัติต่อ สตรีหรือภรรยา อย่างไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ
ทางด้านร่างกาย เป็นการกระทำต่อร่างกายโดยตรงอย่างเจตนา มิใช่อุบัติเหตุโดยวิธีการต่าง ๆ ที่แสดงออกโดยตรงจากความก้าวร้าว ตั้งแต่ ขว้างปาข้าวของใส่ผู้ชายใช้การผลัก เตะ บิดแขน ตบ ต่อย และใช้อาวุธทำร้ายตนตาย
ทางด้านจิตสังคม มีขอบเขตกว้างขวาง ซึ่งมักเป็นอุบัติการอันเกี่ยวข้องกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ ศาสนา มีความแตกต่างตามความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีพบมากในระหว่างการตั้งรรภ์ และความเครียดในครอบครัว สถานการณ์เกิดขึ้นที่บ้าน ในช่วงเวลา 08.00-23.30 พฤติกรรมมีตั้งแต่การเพิกเฉย ข่มขู่ ด่าทอ สบประมาท ริดรอนสิทธิส่วนบุคคล ไม่ให้อำนาจบทบาททางครอบครัว และสังคม ไม่ยกย่องดูแลในฐานะภรรยา ไม่ให้ร่วมกิจกรรมทางสังคมในฐานะคู่สมรส ไม่ให้การดูแลทางเศรษฐกิจ ใช้พฤติกรรมทางเพศเป็นการลงโทษ หรือให้รางวัล บางรายอาจแสวงหาผลประโยชน์จากเรือนร่างสตรี เช่น การบังคับให้ค้าประเวณี ถ่ายภาพเปลือยโชว์ลามก หรือบังคับให้กระทำการผิดกฎหมายต่าง ๆ นานา
พฤติกรรมที่ชายปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องต่อสตรีซึ่งเป็นภรรยา หรือคู่นอน ที่พบมากที่สุด ได้แก่ การทารุณกรรมทางด้านร่างกาย โดยการทะเลาะทุบตี

พบได้ที่ใด

อุบัติการของการข่มเหงทุบตรีสตรี หรือภรรยา พบได้ตาม
- โรงพัก จากการแจ้งความของผู้หวังดี ญาติ เพื่อนบ้าน เรื่องจบด้วยการยินยอม ประนีประนอม หรือปรับฐานทำร้ายร่างกาย และมักถือเป็นเรื่องปกติ
- ศาล ในคดีทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนตาย หย่าร้าง
- โรงพยาบาล ในรายอุบัติเหตุ บางรายอาจพบการทำลายตนเองจากการใช้ยา สารพิษ หรืออาวุธ

ลักษณะที่สัมพันธ์กับสตรี หรือ ภรรยาที่ถูกทำร้าย

สตรีที่ถูกระทำทารุณกรรม มักมีประสบการณ์ ขาดอาหาร ขาดมารดา ในวัยเด็ก (abuse child) เหงา พึ่งพาผู้อื่น สำนึกในคุณค่าตนเองตกต่ำ เฉยชา รู้สึกบาป ยอมรับสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ของตน เมื่อถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศ หรือถูกทุบตีจะทำให้ขลาดกลัว กดเก็บ หลีกหนีเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นหนทางนำสู่การเจ็บปวดทางกาย การใช้สุรา หรือยาเสพติด หรือมีพฤติกรรมทำลายตนเอง นอกจากนี้สตรียังมีค่านิยมทางเพศที่ว่า "สตรี เป็นสิทธิของสามีเมื่อแต่งงานแล้ว สามีมีสิทธิที่จะสั่งสอนเธอได้" สตรีบางคนใช้พฤติกรรมทางเพศแวงหาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับสามี บางรายยอมเจ็บปวด ทุ่มเท เพื่อคงไว้ซึ่งรูปโฉมโนมพรรณ ซึ่งเธอคิดว่าสิ่งนั้นจะผูกมัดใจสามีได้ ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สตรีกลุ่มนี้อยู่ในชั่นทางสังคม เศรษฐกิจต่ำ ด้อยการศึกษา การแสวงหาข้อมูลแหล่งบริการต่าง ๆ ถูกจำกัดจากการตัดขาด และด้อยโอกาสทางสังคม ตกงาน ขาดระบบสนับสนุนทางสังคม แม้จะมีรายงานว่าสตรีหลายรายชอบที่จะได้รับการทุบตี (masochism) แต่จะไม่เป็นเช่นนั้นทุกคน

ชายหรือสามีที่ขมเหงทุบตี ภรรยา มีลักษณะอย่างไร

ชายผู้กระทำทารุณกรรม มักมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม มีการใช้สิ่งเสพติดเพื่อประคับประคองจิตใจ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมวู่วาม เนื่องจากความคับข้องใจและวิตกกังวล เขาจะกระทำพฤติกรรมรุนแรง (violent) เมื่อตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสุรายาเสพติด ชายเหล่านั้น มีความรู้สึกสำนึกในตนเองตกต่ำ ระแวง หึงหวง พึ่งพาคู่ครอง และเชื่อว่าบุรุษต้องขมสตรี เขาจะประณามคู่ครองเมื่อเกิดความเครียดใช้พฤติกรรมทำลาย หรือก้าวร้าวเป็นกลไก ตลอดจนใช้พฤติกรรมทางเพศโดยตรงเพื่อกดขี่บังคับคู่ครอง และเชื่อว่าบุรุษต้องข่มสตรี เขาจะประณามคู่ครองเมื่อเกิดความเครียดใช้พฤติกรรมทำลาย หรือก้าวร้าวเป็นกลไก ตลอดจนใช้พฤติกรรมทางเพศโดยตรงเพื่อกดขี่บังคับคู่ครอง ชายเหล่านี้เติบโตมาจากครอบครัวที่มีโครงสร้างไม่ดีมีความยากลำบาก ยากจน แตกแยก มีแบบแผนการติดต่อสื่อสารไม่ดี เป็นผลให้เกิดการใช้คำพูดหยาบคาย ยากจน แตกแยก มีแบบแผนการติดต่อสื่อสารไม่ดี เป็นผลให้เกิดการใช้คำพูดหยาบคาย ด่าทอ ตลอดจนการใช้กำลังทุบตีเป็นกลไกที่ใช้ปรับสู้ต่อความเครียดของตน

กลไกการทะเลาะทุบตีในคู่สมรส : เริ่มต้น - สิ้นสุด อย่างไร ?

ตามที่ได้ทราบมาแล้วว่า การทุบตีในคู่สมรส ถูกใช้เป็นกลไกการปรับตัวของชาย (สามี) เมื่อตนไม่สามารถเผชิญกับปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล ระแวง อิจฉา การเลี่ยง หนีความรับผิดชอบ การหึงหวงหรืออับอาย ฯลฯ ฝ่ายชายจะเริ่มหงุดหงิด หุนหนพลันแล่น ใช้คำพูดหยาบคาย พาลทะเลาะ และใช้กำลังทุบตีในขณะก่อการวิวาท คู่สมรสจะขาดการควบคุมพฤติกรรม จะทำร้ายร่างกายต่อกัน ระยะนี้เรียกว่า state of shock ทั้งคู่จะสูญเสียบุคลิกภาพตนจนกว่าเขาจะเริ่มรับรู้รายละเอียดว่า อะไรได้เกิดกับเขา เมื่อทั้งคู่สงบงจะมีความรู้สึกสำนึกตน ขอโทษ ง้องอน เอาอกเอาใจ และสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกในคราวต่อไป ซึ่งเรียกว่า เป็นระยะของ honeymoon state ฝ่ายชายจะพร่ำพรรณนาว่ามิอาจอยู่คนเดียวได้โดยขาดคู่ สตรีผู้ถูกทุบตีเธอจะเชื่อในคำสัญญานั้น และให้อภัยเขา เพราะรู้สึกว่าเขาขาดการช่วยเหลือ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สตรีรับว่าเป็นการแสดงออกถึงความรัก และการยอมรับเธอตัดใจไม่ผูกพยาบาล เพราะคิดว่าสามีคงเลิกนิสัยร้ายนั้นได้ เธอกลัวความเลวร้าย ขาดความเชื่อมั่น รู้สึกผิด บาป อาย ลังเลใจ ไร้ที่พึ่งพา ต้องพึ่งพาการเงินจากสามี รู้สึกว่าลูก ๆ ต้องการพ่อพร้อมกับปลอบใจตนเองว่า "ไม่เลวร้ายเกินไปนัก"

อาการที่พบจากการใช้กำลังทะเลาะทุบตี ข้อแตกต่างจากอุบัติเหตุ

มีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงแก่ชีวิต พบรอยฟกช้ำตามผิวหนัง แผลฉีกขาด ศีรษะแตก กระดูกหัก อวัยวะภายในช้ำ อาเจียนเป็นโลหิต แตกต่างกันไปตามแต่ความชำนาญของสามีที่จะซ่อนรอยหลักฐาน เช่น บริเวณท้องน้อย ขาอ่อน หลังพฤติกรรมของสตรีผุ้เคราะห์ร้ายจะสับสน เลี่ยงการอธิบายเกี่ยวกับ อุบัติเหตุ ที่เกิดกับเธอ เธอจะนิ่งเงียบ ไม่โวยวาย ทนความเจ็บปวด ไม่บอกความจริง อับอายการมาพบแพทย์เพียงให้ร่างกายให้พ้นภาวะอันตรายเท่านั้น สตรีส่วนใหญ่มักเก็บตัว รักษาตัวอยู่ตามลำพังในบ้าน
หากพบว่า มีการกระทำทารุณกรรมทั้งในแม่ และเด็ก หรือ กรณีที่ผู้ถูกทุบตีกำลังตั้งครรภ์ นั่นหมายถึงจะมีแนวโน้มของการกระทำทารุณกรรมในเด็ก (child abuse) ตามมา ซึ่งเป็นความรุนแรง และเลวร้ายของครอบครัว

บุคลากรในทีมสุขภาพจะช่วยเหลือได้อย่างไร

เป็นที่น่าคิดว่า บุคลากรแพทย์มักไม่ค่อยสนใจถึงสาเหตุที่แท้จริง ตลอดจนความรู้สึกของหญิงเหล่านั้น เธอมักจะเก็บความเจ็บปวดกาย และชอบช้ำจิตใจคนเดียวภายในบ้าน นอกจากจะเกิดอาการรุนแรงทางกายที่สาหัสจริง ๆ จึงมารับการรักษา เมื่ออาการทุเลา เธอจะรีบกลับบ้านตามเดิม เพื่อที่จะมิให้เพื่อนผู้ร่วมงาน หรือญาติสงสัย ในความเลวร้ายในสัมพันธภาพการครอบเรือนของเธอ อย่างไรก็ตามสังคมยังคงเพิกเฉย เพื่อเคารพต่อความลับของสตรีผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น ปัญหาการถูกทุบตีในสตรีถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่อาชญากรรม แม้ว่า Case จบลงด้วยการพย่าร้าง ถูกฆ่า ถูกทุบตีจนตาย หรือถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายจากการป้องกันตนเอง สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ควรได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย และความเห็นใจจากสังคม
ฉะนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพ พึงตื่นตัวต่อคำพูดทำนอง ฉันประสบมรสุมชีวิตมาตลอด ทุกอย่างมันเลวร้ายสำหรับฉันไปหมด ฯลฯ สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินปัญหา เพื่อสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป

สัมพันธภาพระหว่างบุคคล จุดเริ่มต้นของการบำบัด

ผู้ช่วยเหลือจะต้องสร้างสัมพันธภาพระหว่างตัวผุ้ให้การบำบัดเอง กับสตรีผู้มีเคราะห์ สัมพันธภาพที่ดี ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจ ผู้ช่วยเหลือต้องยอมรับว่าสตรีผู้นั้นมีเคราะห์ เข้าใจในความรู้สึกของเธอ แม้ว่าเธอถูกทุบตี แต่เธอยังรักสามีอยู่ อย่าวิพากษ์วิจารณ์สามี อย่าทึกทักเข้าใจผิดว่าสสตรีเหล่านั้น ชอบให้ถูกทำร้าย (masochism) ซึ่งจะทำให้ขัดต่อพฤติกรรมการดูแล พยายามสำรวจท่าทีซึ่งให้เธอรู้สึกถึงความไว้วางใจ

การสัมภาษณ์ ประเมินสภาพ

- ผู้ช่วยเหลือต้องจัดบรรยากาศเชิงบำบัด ให้เป็นความลับ เป็นสัดส่วนต้องควบคุมท่าที อารมณ์ ความรู้สึกไม่ให้ตกใจ เสียใจ หรือโกรธ ต่อสถานการณ์นั้น ๆ ดุจเหมือนเราเจอปัญหาด้วยตนเอง แสดงความเห็นใจ ตั้งใจฟัง สัมผัสด้วยสายตา ใช้คำพูดสุภาพให้เกียรติเธอ และครอบครัว
- ใช้คำถามตรง เกี่ยวกับอุบัติการที่เกิดกับเธอ อย่าใช้คำพูดอ้อ้มค้อม ฟุ่มเฟือย โอกาสในช่วงนั้นเหมาะต่อการช่วยเหลือ เนื่องจากเธอตื่นตัวต่อปัญหา แพทย์ พยาบาลเป็นผู้เดียวที่สามารถแสดงออกซึ่งความเห็นใจ และปฏิบัติต่ออาการของเธอในขณะนั้น ๆ ได้
- กระตุ้นให้เธอ เล่า ระบายเรื่องราวชีวิตของเธอให้ฟัง หากเธอยังลังเลสับสนในสามี จงอย่าได้วิจารณ์สามี เพราะเธอจะปกป้องสามีในขณะเดียวกัน ทำให้กระบวนการหาข้อมูลบิดเบือนไป อาจส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างตัวเธอ กับผู้บำบัดด้วยไม่แน่ใจว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือเธอได้หรือไม่
- การประเมินความพร้อมของสตรีที่จะหนีจากสามี หรือหย่าร้าง ต้องให้เธอแน่ใจชัดเจนในการวางแผนเกี่ยวกับการหารายได้ แหล่งพักพิง และคำแนะนำทางกฎหมายที่จะให้แก่เธอ เนื่องจากกระบวนการบำบัดรักษาในสตรีที่ถูกทารุณกรรมจากสามี จะใช้กระบวนการในชุมชนมากกว่าในสถานพยาบาล และเน้นการให้คำแนะนำทางกฎหมาย ซึ่งจะแตกต่างกับกรณีถูกข่มขืน ซึ่งจะให้การช่วยเหลือในภาวะวิกฤต
- หากเธอต้องการแยกจากสามีจริง ต้องให้เธอทบทวนตัวเอง ทบทวนสามี ความต้องการในอดีต และปัจจุบันตลอดจนหนทางเลือกอื่น ๆ หากเธอลังเลที่จะหาคำตอบในขณะนั้น ก็ส่งเสริมให้เธอวางแผนล่วงหน้าปฏิบัติต่อปัญหาของเธอให้ความรู้ในการวางแผนปกป้องเธอยามคับขัน ตลอดจนสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูก ๆ
- พึงระวังแนวโน้มการฆ่าตัวตาย ซึ่งเธออาจใช้เป็นหนทางสุดท้ายในการต่อสู้ปัญหา
- ให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งบริการในชุมชน เช่น แหล่งพักพิงยามฉุกเฉิน ที่ปรึกษาทางกฎหมาย แนะแนว ฝึกอาชีพ และบริการหางานอาชีพ หากไม่มีแหล่งบริการที่เหมาะสม ผู้ช่วยเหลือก็ควรตื่นตัว เสนอข่าว ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้ชุมชนได้ตระหนักในภัยมืดเหล่านี้

หาก แพทย์ พยาบาล ไม่สามารถปฏิบัติต่อปัญหานี้ได้ ให้ส่งต่อไปยังบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อปกป้องอันตรายต่อเธอ เธอต้องการคำแนะนำปรึกษาบำบัดจากบุคลากรที่มองเห็นคุณค่า ซึ่งหมายถึง ชีวิตของสตรีผู้เคราะห์ร้ายและลูก ๆ ของเธอนั่นเอง

บ้านพักฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือสตรีและเด็ก ผู้มีความเดือนร้อน

บ้านพักฉุกเฉิน 1 6 ถนนสุโขทัย ดุสิต กทม. 10300
โทร. 2415116, 2414170
บ้านพักฉุกเฉิน 2 501-1 หมู่ 3 ถนนเดชะตุงคะ ดอนเมือง กทม. 10210
โทร. 5661774, 5662288


กลับ<wbr>หน้า<WBR>สารบัญ<WBR><WBR>