ต่อมลูกหมากโต

น.อ.วุฒิพันธ์ บรรจง
ต่อมลูกหมากคืออะไร
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ชาย เป็นต่อมมีท่อมีหน้าที่สร้างสารเมือกหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ รูปร่างคล้ายลูกหมาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร อยู่ติดกับส่วนล่างของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะส่วนต้นจะผ่านกลางต่อมลูกหมาก

ภาพ<wbr>ตัด<WBR>ด้าน<WBR>ข้าง<WBR>ของ<WBR>ต่อม<WBR>ลูก<WBR>หมาก<WBR><WBR>

ต่อมลูกหมากโตคืออะไร

ต่อมลูกหมากโต เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่มีการกระจายไปอวัยวะอื่น) ประกอบด้วย เนื้อเยื่อต่อม เยื่อกล้ามเนื้อเรียบ และเยื่อพังผืด

เขาว่าต่อมลูกหมากโตเป็นในคนแก่ แก่แค่ไหน

ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัดจากต่อมลูกหมากโต มักมีอายุเกิน 50 ปี อายุมากขึ้นโอกาสมีอาการผิดปกติจากต่อมลูกหมากโตก็มากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ต่อมลูกหมากโตมีสาเหตุจากอะไร บางคนบอกหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ต่อมลูกหมากทำงานมาก ทำให้ต่อมลูกหมากโต

ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริงของต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยที่หมอพบ บางคนก็มีภรรยาหลายคน บางท่านก็เป็นพระภิกษุที่บวชตั้งแต่เด็ก

ต่อมลูกหมากโต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทำให้เกิดอาการผิดปกติอย่างไรจะได้รู้และรีบมาหาหมอ

ต่อมลูกหมากอยู่รอบท่อปัสสาวะ เมื่อโตขึ้นทำให้ท่อปัสสาวะแคบลง แต่เกิดอย่างช้า ๆ กระเพาะปัสสาวะจะปรับตัวโดยบีบตัวแรงขึ้น เมื่อผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะ กล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้น เพราะทำงานหนักขึ้น ปัสสาวะยังพุ่งแรงเหมือนเดิม แต่จะบ่อย ปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งน้อยกว่าปกติกลั้นนานไม่ได้ เพราะกระเพาะปัสสาวะระยะนี้ถูกกระตุ้นได้ง่าย มีน้ำปัสสาวะไม่มากก็ต้องถ่ายออก (ปกติกระเพาะปัสสาวะเก็บน้ำปัสสาวะได้ประมาณ 1/3 ลิตร จึงกระตุ้นให้อยากถ่ายปัสสาวะ)
เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นอีก ท่อปัสสาวะแคบลงอีก สุดท้ายกระเพาะปัสสาวะปรับตัวต่อไปไม่ได้ จะอ่อนแรงมีแรงบีบตัวน้อย ถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งต้องรอนานจึงออก ต้องเบ่งช่วย พุ่งไม่แรง ลำเล็ก กินเวลานาน ตอนหยุดมีปัสสาวะหยดมากขึ้นจะมีน้ำปัสสาวะตกค้างในกระเพาะ ปัสสาวะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเรื้อรัง
ช่วงที่มีการปรับตัวของกระเพาะปัสสาวะระดับต่าง ๆ นี้มีผลให้ปัสสาวะผ่านจากไตมาตามท่อไตลงในกระเพาะปัสสาวะไม่สะดวก นานเป็นเดือน เป็นปี มีผลให้ไตและท่อไตพอง การทำงานของไตลดลง ในที่สุดเกิดภาวะไตวาย
นอกจากอาการที่เป็นผลโดยตรงจากต่อมลูกหมากโตอาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่
1. การติดเชื้อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ
2. ปัสสาวะไม่ออกอย่างทันทีทันใด
3. ปัสสาวะเป็นเลือด
4. นิ่วในกระเพาะปัสสวะ
5. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ และริดสีดวงทวาร
ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น สงสัยไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์

หมอรู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนเป็นต่อมลูกหมากโต

หมอจะสรุปและประเมินจาก
1. ประวัติและอาการ
2. การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจทางทวารหนัก (ต่อมลูกหมากอยู่ติดด้านหน้าของทวารหนัก)
3. การตรวจปัสสาวะ
4. การศึกษาการไหลของน้ำปัสสาวะ
5. การส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ
หมอจะตรวจมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับอาการ และความต้องการข้อมูล เพื่อประกอบการรักษา บางครั้งตรวจพิเศษอย่างอื่น เพื่อแยกโรคที่มีอาการคล้ายกัน

หมอรักษาอย่างไร

เมื่อแน่ใจว่าต่อมลูกหมากโตหมอจะเลือกวิธีการรักษาตามความรุนแรงของอาการ ขนาดต่อมลูกหมาก อายุ สุขภาพ โรคประจำตัวของผู้ป่วย และภาวะแทรกซ้อน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1. ใช้ยา
1.1 กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก
1.2 กลุ่มยาปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศ
2. การผ่าตัด เท่าที่ใช้ในเมืองไทย ได้แก่
2.1 ใช้เครื่องมือส่องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกออกเป็นชิ้นเล็กด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้าแล้วล้างออก
2.2 ใช้เครื่องมือส่งผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปจี้ทำลายเนื้องอกด้วยแสงเลเซอร์
2.3 ผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทางแผลหน้าท้อง
2.4 ใช้เครื่องมือใส่ผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดความร้อนสูงในเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้พลังงานไมโครเวฟ
2.5 คาสายถ่างท่อปัสสาวะส่วนที่ผ่านต่อมลูกหมาก

ในผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่พร้อมจะรับการผ่าตัดแต่อาการมากไม่สามารถรอผลการรักษาโดยใช้ยา หรือมีภาวะแทรกซ้อน เรายังมีทางเลือกระบายน้ำปัสสาวะโดยใส่สายสวนทางท่อปัสสาวะ หรือใส่ท่อระบายน้ำปัสสาวะผ่านทางหน้าท้อง
นอกจากการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยปัสสาวะสะดวกขึ้น ทั้งโดยใช้ยาและผ่าตัด หมอยังรักษาผลข้างเคียงที่เกิดจากต่อมลูกหมากโตและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย


กลับ<wbr>หน้า<WBR>สารบัญ<WBR><WBR>