ไตวายแต่ไม่ตายไว

โดย น.อ. ฉัตรชัย สุนทรธรรม
กองศัลยกรรม รพ. จันทรุเบกษา พอ.บนอ.
ร.ร. การบิน กำแพงแสน นครปฐม

โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคของไตที่ไม่สามารถทำการกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เพียงพอ ผู้ป่วยไม่อาจจะมีชีวิตรอดต่อไปนี้ นอกจากจะมีการช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกายแทนไต โดยการล้างท้อง (Peritoneal Dialysis) และการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ซึ่งการกระทำทั้ง 2 วิธี ต้องทำเป็นประจำไม่มีโอกาสหยุดทำได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับการล้างไต ฟอกเลือดเป็นระยะ ๆ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยวิธีการเหล่านี้อย่างมหาศาล
ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนไตนี้เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตมีข้อดีกว่าการรักษาโดยการล้างท้องหรือฟอกเลือดโดยใช้ไตเทียมคือ
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถทำงานได้ตามปกติ ออกกำลังกายเล่นกีฬาได้ เรื่องอาหารไม่ต้องจำกัด หรืองดอาหารบางประเภท ภาวะซีด และภาวะสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายดีขึ้น อาการอ่อนเพลียดีขึ้นสามารถมีบุตรได้
- ผลในระยะยาวค่าใช้จ่ายถูกกว่าการรักษาโดยวิธีการล้างท้อง และฟอกเลือด

โรงพยาบาลใดบ้างที่ให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนไต

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่สามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ เช่น ร.พ.ศิริราช, ร.พ.จุฬาลงกรณ์, ร.พ.รามาธิบดี, ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช, ร.พ.พระมงกุฎเกล้า, ร.พ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ร.พ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ร.พ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ร.พ.ตำรวจ และ ร.พ.เอกชนบางแห่ง

ผู้ป่วยคนไหนบ้างที่ควรจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต

1. ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคนจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ควรมีคุณสมบัติดังนี้คือ
- อายุไม่ควรจะเกิน 55 ปี เนื่องจากมีผู้ป่วยที่อายุมาก ๆ ผลในระยะยาวไม่ดีเทียบกับผู้ป่วย ซึ่งอายุน้อย
- ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อการดมยาสลบผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคติดเชื้อรุนแรง ฯล
- จะต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐฐานะ ตลอดจนพร้อมที่จะร่วมมือในการรักษา และมาตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

แหล่งที่มาของไตได้มาจากไหนบ้าง

แหล่งที่มาของไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยทั่วไปจะได้มาจาก 2 แหล่ง คือ
1. ผู้ที่เสียชีวิตใหม่ ๆ (Cadaveric Donor) ได้แก่ผู้ที่มีลักษณะดังนี้
- ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง และเกิดภาวะสมองตาย (ตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายของแพทยสภา)
- ผู้บริจาคอายุไม่เกิน 60 ปี สุขภาพแข็งแรงปกติดี
- ไม่มีประวัติโรคไต, ไตทำงานปกติ
- ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคอวัยวะ เช่น โรคติดเชื้อ, โรคเอดส์, โรคมะเร็ง (ยกเว้นมะเร็งของสมอง)
- ญาติผู้เสียชีวิตยินยอมบริจาคไต โดยลงนามแสดงความยินยอมไว้ในเอกสารของทาง ร.พ.
- ผลการตรวจเนื้อเยื่อของผู้บริจาคเข้ากันได้กับผู้รับไต

2. ผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living-related donor) ผู้ที่เหมาะสมจะบริจาคไตที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ
- เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่จะรับไต ได้แก่ พี่น้อง พ่อแม่ บุตรธิดา
- สามี ภรรยา (Emotional related)
- อายุระหว่าง 20-60 ปี
- ต้องยินยอมบริจาคไตโดยสมัครใจ
- มีหมู่เลือดเดียวกันกับผู้รับไต
- มีผลการตรวจเนื้อเยื่อ (HLA) เหมือนกันทุกตัวหรือเหมือนกันครึ่งหนึ่งกับผู้รับไต
- ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคอวัยวะ หรือไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามต่อการดมยาสลบผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ, โรคปอด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคติดเชื้อ HIV, โรคมะเร็ง เป็นต้น
- เป็นผู้ที่มีไต ท่อไต เส้นเลือดของไต และหน้าที่ของไตเป็นปกติ

การผ่าตัดเปลี่ยนไตทำอย่างไร

หลังจากนี้ผู้ให้และผู้รับไต ได้รับการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ และการตรวจค่าต่าง ๆ ในเลือดทางห้องปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการผ่าตัด โดยการนำเอาไตของผู้ให้ไปปลูกฝังไว้บริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้รับไต โดยการต่อเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำของไตที่ปลูกถ่ายเข้ากับเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำของผู้รับตามลำดับ และท่อปัสสาวะจากไตที่ปลูกถ่ายเข้ากับกระเพาะปัสสาวะของผู้รับไต

หลังผ่าตัดเปลี่ยนไตแล้วผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

การที่จะให้ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายนั้น คงอยู่คู่กับผู้ป่วยและทำงานได้ตามปกติได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้นั้น ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวดังนี้คือ
- ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ ห้ามงดยาเอง ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายยอมรับไตที่ปลูกถ่าย โดยไม่มีปฏิกริยาต่อต้าน (ยานี้ต้องรับประทานตลอดชีวิต)
- ต้องมารับการตรวจหลังผ่าตัดตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้ามีไข้หรือมีอาการผิดปกติรู้สึกเจ็บป่วยไม่สบายด้วยโรคอะไรก็แล้วแต่ ห้ามซื้อยารับประทานเอง ต้องไปพบแพทย์ที่ดูแลรักษาอยู่ประจำ ทั้งนี้เนื่องจากหลังผ่าตัดอาจจะมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากยา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หรือร่างกายไม่ยอมรับไตที่ปลูกถ่าย
- ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

จากที่กล่าวมาแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะได้เห็นว่าไตวายนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยตายไว หรือสิ้นหวังอย่างที่คิด ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันเราสามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้เป็นผลสำเร็จ และไตจากร่างผู้บริจาค 1 คนนั้น สามารถนำไปปลูกถ่ายช่วยชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ 2 คน นอกจากนี้ หัวใจ, ปอด, ตับ, ตับอ่อน, ลำไส้ และดวงตายังสามารถบริจาคเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยอื่น ๆ ได้อีกซึ่งการรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตใหม่ ๆ นั้นจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ในปัจจุบันนี้ปัญหาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนไตในไทยที่ประสบอยู่ก็คือ การขาดแคลนไตที่ได้รับบริจาค ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี ในขณะที่จำนวนไตที่ได้รับบริจาคมีน้อยทั้ง ๆ ที่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการประสพอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก

ผู้เขียนหวังว่า ถ้าท่านผู้อ่านได้เล็งเห็นประโยชน์ และความสำคัญของการบริจาคไต และอวัยวะอื่น ๆ แล้วคงจะร่วมมือกันชักชวนและสนับสนุนให้มีการบริจาคอวัยวะกันให้มากยิ่งขึ้น ดีกว่าที่จะปล่อยให้ร่างกายเราเสียไปโดยไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ในปัจจุบัน ถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิต สามารถแจ้งความจำนงได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อเป็นบุญกุศลและช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายไม่ให้ตายไว


กลับ<wbr>หน้า<WBR>สารบัญ<WBR><WBR>