ผู้เขียน หัวข้อ: โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน  (อ่าน 4386 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

admin

  • บุคคลทั่วไป
โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน
« เมื่อ: วันที่ 10 สิงหาคม 2011, 07:11:41 »
 :l7: :l7: :l7:

โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน


          วัยรุ่นที่ปล้นสะดมร้านค้าในพื้นที่เกือบทั้งหมดในกรุงลอนดอน และ อีก 3 เมืองใหญ่ของอังกฤษ ส่งข่าวปลุกระดม วางแผนและประสานการก่อเหตุวุ่นวายไร้ขื่อแป ผ่านระบบส่งข้อความโทรศัพท์แบล็กเบอร์รี (บีบี) และเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ข้อความหนึ่งที่ส่งผ่านทางบีบี เรียกร้องให้เพื่อนๆ หรือคนในเครือข่ายออกมาร่วมก่อเหตุ โดยให้นำค้อน นำรถยนต์ รถกระบะ รถตู้หรือรถเข็น ออกมาช่วยขนของที่พวกเขาขโมยมา บางข้อความบอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขอให้ออกมาปล้นทุกสิ่งอย่าง ตำรวจทำอะไรไม่ได้ และหนักข้อถึงขนาดบอกว่า หากเห็นตำรวจก็ให้ยิง !

       แรงจูงใจที่ทำให้วัยรุ่นออกมาร่วมก่อเหตุจำนวนมาก คือการอวดว่า ตำรวจไม่มีปัญญาทำอะไรพวกเขาได้ ไม่เช่นนั้น ความไม่สงบคงไม่ลามไปทั่วลอนดอน     

          มีคลิปและภาพถ่ายจำนวนมากแสดงให้เห็นพวกวัยรุ่นคึกคะนองวิ่งหายไปในความมืด โดยมีทีวีจอแบน แล็ปท็อป หรือหอบเสื้อผ้ากีฬาเต็มสองแขน จนไม่อาจพูดได้อีกต่อไปว่า ความไร้ขื่อแปที่เกิดขึ้นมีมูลเหตุจูงใจมาจากการตายของนายมาร์ค ดักกาน แต่เป็นฝีมือของเหล่าวัยรุ่นอันธพาลฉวยโอกาส และมีผู้ตั้งฉายาแก๊งเด็กเกเรพวกนี้ตามชื่อรายการเกมโชว์ว่า ซูเปอร์มาร์เก็ต สวีป ที่ให้ผู้ร่วมแข่งขันกวาดข้าวของในร้านใส่รถเข็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่กำหนด
 
        ผู้ที่ถูกจับกุมฐานลักขโมย ก่อความไม่สงบ อายุอยู่ในวัยรุ่น หรือวัย 20 ต้นๆ เท่านั้น และร้านค้าที่ตกเป็นเป้าหมายอย่างเห็นได้ชัดคือร้านขายของราคาแพง       

        ตำรวจกล่าวอย่างชัดเจนว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ มีบทบาทในการประสานก่อเหตุรุนแรง ในย่านแอนฟิลด์ ท็อตแนม และออกซ์ฟอร์ด เซอร์คัส พร้อมเตือนว่า หากจับได้ว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ ส่งข้อความทางแบล็กเบอร์รี  และเว็บไซต์อื่นๆ ปลุกระดมความรุนแรง
เกิดจากความไร้สำนึก

           นายจอห์น พิทท์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่ออาชญากรรมและวัฒนธรรมวัยรุ่น ให้ความเห็นว่าอาชญากรที่ใช้ประโยชน์จากการจลาจลโดยแฝงตัวมาปล้นร้านค้านั้นเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการว่างงานในระดับสูง และส่วนใหญ่ไม่มีอนาคต และไม่มีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับการจลาจลที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ฉวยโอกาสจากเหตุความวุ่นวายในการก่อเหตุปล้นร้านค้า

           "ที่สำคัญคือสังคมจะต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มเยาวชนที่ก่อเหตุอาชญากรรมโดยมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว" นายพิทท์สให้ความเห็นเพิ่มเติม

           สื่ออังกฤษวิจารณ์ด้วยว่าเหตุที่ทำให้สถานการณ์ลุกลาม ได้มาจากปัญหาการว่างงาน จากการที่นโยบายของรัฐบาลไม่ได้รัดเข็มขัดของรัฐบาล สร้างความไม่พอใจให้คนทั่วประเทศ เนื่องจากจะนำไปสู่การตัดงบด้านการบริการสังคมและสวัสดิการต่างๆ ขณะที่ตำรวจ 1,700 นาย ที่ประจำการอยู่ทั่วกรุงลอนดอน ได้พยายามเข้าระงับเหตุแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้ร้องขอให้ตำรวจใช้สายดับเพลิงฉีดใส่ผู้ก่อเหตุ หรือไม่ก็ขอกำลังจากทหารมาช่วยระงับเหตุ

           ภาพวิดีโอที่บันทึกระหว่างการเกิดจลาจลในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักฉวยโอกาสจะใช้ช่วงสุญญากาศหลังการเกิดจลาจลในพื้นที่เข้าปล้นร้านค้า ฉกฉวยสิ่งของที่ตนเองต้องการ โดยผู้ก่อเหตุบางคนลงมืออย่างฮึกเหิมโดยไม่มีการปกปิดใบหน้าแต่อย่างใด และในคลิปวิดีโอที่บันทึกในเขตวู้ดกรีนในช่วงเช้าวันอาทิตย์แสดงภาพผู้คนที่วิ่งออกมาจากร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์เอชแอนด์เอ็มพร้อมกับสินค้าหอบใหญ่ในมือ และมีกลุ่มคนที่ยืนชุมนุมหน้าร้านขายอุปกรณ์กีฬาเพื่อรอเข้าไปหยิบสินค้าในร้านแห่งนั้น

           ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งในพื้นที่ลอนดอนตอนเหนือเปิดเผยว่า ตนได้ยินเด็กหญิงสองคนกำลังถกเถียงกันว่าจะไปขโมยสินค้าในร้านค้าแห่งใดต่อไป หลังจากที่ได้เข้าไปลักสินค้าในร้านขายยา "บูทส์" ได้อย่างสะดวกราวกับไปเดินช็อปปิ้งในวันปกติ

           เยาวชนไร้อนาคตของอังกฤษเข้าปล้นร้านค้าประมาณ 100 แห่งในเขตวู้ดกรีน รวมทั้งร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และร้านเสื้อผ้าชั้นนำอย่างเอชแอนด์เอ็ม ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าพบเห็นวัยรุ่นวิ่งออกมาจากร้านพร้อมกับกระเป๋าเดินทางที่เต็มไปด้วยสินค้าจากร้านที่ถูกปล้น ทั้งยังใช้พื้นที่สวนด้านหน้าเขตที่พักอาศัยเป็นแหล่งคัดสินค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าที่ปล้นมาจากร้านค้าเหล่านั้น เยาวชนบางรายพยายามขายสินค้าที่ปล้นมาจากร้านให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ชาวบ้านในเขตท็อตแนมรายหนึ่งยืนยันว่ามีการวางขายสินค้าที่ปล้นมาได้เพื่อระบายสินค้าร้อนเหล่านั้นออกจากมือกันแล้ว โดยตนเองได้พบว่ามีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ปล้นมาจากร้านเคอร์รีสออกจำหน่ายในราคาเพียง 20 ปอนด์เท่านั้น

           นายพิทท์สอธิบายว่าผู้ที่ปล้นร้านค้าจะมีเหตุผลสำหรับตนเองในการบรรเทาความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น โดยจะอ้างว่าตนเองได้ขโมยสินค้าของบริษัทใหญ่ที่ร่ำรวย ขณะที่ตนเองเป็นเพียงคนจนๆ ที่มีเงินน้อย ประกอบกับการที่พื้นที่เหล่านั้นไร้ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมา
 

ชนวนเหตุจลาจล...ความผิดซ้ำซากของตำรวจ

            ชนวนเหตุจลาจลร้ายแรงที่สร้างความตะลึงแก่ชาวโลกครั้งนี้คือ การยิงนายมาร์ค ดักกาน ชาวอังกฤษเชื้อสายจาเมกาอายุ 29 ปีในย่านท็อตแนม ทางเหนือของกรุงลอนดอนเสียชีวิตขณะโดยสารในรถแท็กซี่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว โดยทีมปฏิบัติการไทรเดนท์ ของตำรวจนครบาลลอนดอน ซึ่งรับผิดชอบกวาดล้างอาชญากรรมจากอาวุธปืนและยาเสพติดในชุมชนผิวสี

        นสพ. อินดีเพนเดนท์ ในอังกฤษ ได้ชี้ว่า ตำรวจจัดการสถานการณ์หลังเกิดเหตุได้อย่างย่ำแย่ ครอบครัวของนายดักกาน ซึ่งเป็นพ่อลูกสี่ ต้องรอนาน 36 ชั่วโมงจึงได้เห็นศพ และเมื่อสมาชิกในชุมชนออกมาร่วมชุมนุมกับครอบครัวและญาติของนายดักกาน ที่หน้าสถานีตำรวจท็อตแนมอย่างสงบ เพื่อขอความกระจ่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันเสาร์ ตำรวจกลับไม่ได้ออกมาสื่อสารกับฝูงชนให้เข้าใจโดยเร็ว   

        การขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้ใจตำรวจในลอนดอน ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2548 ตำรวจยิงนายฌอง ชาร์ลส เด เมเนเซส หนุ่มบราซิลวัย 27 ปีที่ศีรษะถึง 7 นัดเสียชีวิตที่สถานีรถไฟใต้ดินสต็อกเวลล์ ราวสองสัปดาห์หลังเหตุวินาศกรรมในลอนดอนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 56 คนในปีเดียวกัน จากนั้น ตำรวจปล่อยให้รายงานผิดๆ ที่ว่า เมเนเซลสวมเสื้อโค้ทน่าสงสัยและวิ่งหนีตำรวจ แพร่สะพัดออกไปโดยไม่โต้แย้งหรือแก้ไขว่าไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพราะการประเมินผิดพลาดของตำรวจเอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีการเสียชีวิตของนายเอียน ธอมป์สัน คนขายหนังสือพิมพ์ เมื่อปี 2552 ที่ตำรวจต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานคลิปวิดีโอ เสียก่อน ถึงได้ยอมรับว่า เป็นเพราะตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ใช้ไม้กระบอกตีนายธอมป์สันก่อนผลักล้มลงเพราะคิดว่าเป็นผู้ประท้วงประชุมจี 8
 
       กรณีของนายดักกาน คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจได้เร่งสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของเขาว่า เป็นเพราะกระสุนของตำรวจหรือกระสุนของคนร้ายอีกคนที่ตำรวจอ้างว่ายิงต่อสู้ และจะแถลงต่อสาธารณชนโดยเร็ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คณะกรรมการและตำรวจลอนดอน

          ไม่ได้บอกกล่าวต่อสาธารณชนว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่เช่นนั้น อาจช่วยบรรเทาความตึงเครียดลงได้บ้าง

 :yoyo_83: :yoyo_83: :yoyo_83: :yoyo_83:

ที่มา: http://www.komchadluek.net

surat12

  • บุคคลทั่วไป
Re: โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: วันที่ 10 สิงหาคม 2011, 14:11:34 »
ผลเสียของโซเชียลมีเดียก็มีเยอะไม่แพ้ข้อดีเลยครับ

plaza

  • บุคคลทั่วไป
Re: โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: วันที่ 11 สิงหาคม 2011, 07:14:35 »
ผลเสียของโซเชียลมีเดียก็มีเยอะไม่แพ้ข้อดีเลยครับ

ทุกสรรพสิ่ง มีทั้งบวกและลบครับ อยู่ที่ผู้ใช้ต้องมีความรู้ความเข้าใจ และเลือกใช้มันในทางที่ถูกที่ควร


ขอบคุณท่านที่แวะมาเยี่ยมเยือน

admin

  • บุคคลทั่วไป
Re: โซเชียลมีเดียกับปิดเมืองปล้นลอนดอน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: วันที่ 28 สิงหาคม 2011, 08:14:38 »
พลังโซเชียลมีเดีย เกินคาดครับ

 :yoyo_71: :yoyo_71: :yoyo_71:

มนุษย์ เป็นสิ่งที่เข้าใจยากที่สุด